ผู้นำคิมแอ๊วจีนแต่ชายตามองเวียดนาม (ตอนที่ 1) (26 มิถุนายน 2561)
ทำไมผู้นำคิม ต้องโรดโชว์
June 26, 2018, พิมพ์ฝัน เจียรพิพัฒนกุล
ช่วงนี้ผู้นำคิม เดินสายทัวร์ต่างประเทศบ่อย นักวิเคราะห์ ก็คิดแคะ Insights จากการโชว์ตัวของผู้นำคิม ตามประเทศต่างๆ ในที่ต่างๆ รวมถึงวิเคราะห์นัยยะจากคำพูด คำถามนึงที่น่าสนใจ “เหตุใดเกาหลีเหนือจึงอยากนำโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจฉบับเวียดนามมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาของประเทศตัวเองมากกว่าโมเดลการพัฒนาฉบับของจีน?” (ทั้งที่จริงเวียดนามก็ไปก๊อปจากจีนแล้วนำมาปรับปรุง) สำนักข่าว Nikkei Asian Review,ญี่ปุ่น พาดข่าวว่า Kim courts China but finds his economic muse in Vietnam (คิมแอ๊วจีน แต่ใจคิดถึงเวียดนาม)
อาทิตย์ที่ผ่านมาผู้นำคิม เดินสายเชื่อมสัมพันธ์เพิ่มเติมเดินทางเยี่ยม ปธน. Xi Jin Ping ที่ประเทศจีน (เพียง 2 อาทิตย์หลังจากพบกับ ปธน.Trump) นักวิเคราะห์อดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึงพลังแห่งความกระเพื่อมครั้งใหญ่จากการเดินสายของผู้นำคิมช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็น
- พบปธน. Moon Jae-in แห่งเกาหลีใต้ ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้นำคิมกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เปียงยางน่าจะทำตาม Economic Reforms ตามแบบประเทศเวียดนาม
- พบ ปธน.Trump ในวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้นำคิมได้กล่าวว่ามีความตั้งใจที่จะไม่ใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจคู่กับนิวเคลียร์อีกต่อไปแล้ว แต่จะมุ่งเป้าไปที่การเติบโตของประเทศและตั้งใจลดการถููกคว่ำบาตรจากต่างประเทศ โดยใช้การยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์เป็นแรงจูงใจที่จะได้รับการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ
การที่เกาหลีเหนือ “ได้การรับรองจากจีน” มีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ความตั้งใจของเกาหลีเหนือบังเกิดผล ไปเยี่ยมจีนรอบนี้ ผู้นำคิมก็ได้มีโอกาสเยี่ยมชมศูนย์วิจัยการเกษตรอีกด้วย นักวิเคราะห์มองเรื่องนี้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเพราะทำให้เกาหลีเหนือจินตนาการได้ว่าตัวเองต้องสร้างห่วงโซ่อาหาร และอุตสาหกรรมเกษตรขึ้นมา (ซึ่งมักจะเป็นอุตสาหกรรมที่ยกเว้นจากการถูกคว่ำบาตร) แต่นักวิเคราะห์ก็ยังสงสัยว่า "เกาหลีเหนือจะพึ่งพาจีนในเรื่องการพัฒนาต่อไปหรือไม่" (อ้างอิงจากที่ผู้นำคิมกล่าวกับ ปธน.Moon อยากใช้ Model พัฒนาเศรษฐกิจฉบับเวียดนามมากกว่า) สื่อของเกาหลีใต้ “Maeil Business Newspaper” ตีความไว้ 2 เหตุผลว่่าทำไมเกาหลีเหนืออยากเลือกเวียดนามมากกว่าจีน
#1 ทำไมต้องเป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของฉบับเวียดนาม ?
ที่ผ่านมาผู้นำคิมได้พบกับจีนบ่อยครั้ง บวกกับจีนที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกอันดับ 2 และขึ้นว่าเป็นผู้ปกป้องเกาหลีเหนือ จึงเป็นธรรมดาที่เปียงยางจะรัับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจจากจีนมาใช้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า “Doi Moi” นโยบาย Economic Reforms ของเวียดนามที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 นั้นก็เลียนแบบมาจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในช่วงต้นของการเปิดประเทศในปี ค.ศ. 1978 ซึ่งมีพื้นไอเดียมาจากการเน้นสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Capital) และสนับสนุนการส่งออก ในขณะเดียวกันก็ต้องการรักษาอำนาจรัฐบาลแบบคอมมิวนิสต์เอาไว้ เศรษฐกิจจีนเติบโตแรงเหนือเวียดนาม โดยจีนมีการเติบโตด้านรายได้ต่อหัวมาถึงระดับ $8,123 ปี 2016 (เติบโตกว่า 29x ใน 30 ปีที่ผ่านมา) ในขณะที่เวียดนามประชากรมีรายได้ต่อหัวเติบโตเพียง 5x มาอยู่ที่ระดับ $2,171 (ข้อมูลจากธนาคารโลก)
เจาะลึกลงไปอีก ก็จะพบความแตกต่างในรายละเอียดที่ทำให้ผู้นำคิม ดูสนใจเส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจของเวียดนามเป็นพิเศษ
มุมมองของ Junya Ishii, นักวิเคราะห์จาก Sumitomo มองว่าจีนเติบโตนำหน้าไปไกลแล้วจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้นำคิม ถึงมองว่าเวียดนามน่าจะเป็นประเทศที่เอาเป็นแบบอย่างได้มากกว่า
ประเทศเวียดนามเดินตามทางของตัวเองเน้นเซ็นสัญญา Free trade agreements ล่าสุดเวียดนามได้มา 12 ฉบับ (ข้อมูลจาก Asian Develpment Bank) เทียบกับประเทศจีนที่มีเพียง 17 ฉบับ แม้จีนเข้าร่วมกับ WTO (World Trade Organization) ก่อนเวียดนามถึง 6 ปีก็ตาม
เมืองฮานอยต่างจากเมืองปักกิ่งตรงที่ไม่ลังเลใจเลยที่จะเจรจากับประเทศที่พัฒนามากกว่าและต้องการความอิสระทางเศรษฐกิจ
• FTA ของประเทศเวียดนามกับประเทศญี่ปุ่นมีผลในปี 2009
• เวียดนามเป็นหนึ่งในสมาชิก TPP(Trans-Pacific Partnership)
• ล่าสุดก็กำลังเจราจากับกลุ่มประเทศในยุโรป
สำหรับวันนี้เราขออัพเดทแต่เพียงเท่านี้ก่อน โปรดติดตามตอนที่ 2 เกี่ยวกับเหตุผลอีกข้อที่ทำให้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามน่าสนใจมากกว่าจีนในมุมมองของเกาหลีเหนือ
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
https://asia.nikkei.com/Spotlight/North-Korea-at-a-crossroads/Kim-courts-China-but-finds-his-economic-muse-in-Vietnam